29 สิงหาคม 2554

กฟผ. เซ็นสัญญา ถิรไทย 162 ล้านบาท สั่งผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าใหญ่ที่สุดที่ผลิตภายในประเทศ

กฟผ. ไว้วางใจ บมจ.ถิรไทย หรือ TRT เซ็นสัญญาสั่งผลิตหม้อแปลงไฟฟ้า 300 MVA 230/121-22KV Auto-Transformer จำนวน 3 เครื่อง มูลค่า 162 ล้านบาท เป็นหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังขนาดใหญ่ที่สุดที่ผลิตภายในประเทศ และเป็นบริษัทคนไทยรายเดียวที่ผลิตได้ วาดฝันปีหน้าผลิตเฉพาะหม้อใหญ่โตอีกเท่าตัว หรือประมาณ 1,340 ล้านบาท ผู้บริหารฯ ย้ำ มั่นใจรายได้ปีนี้ทะลุ 2,100 ล้านบาทแน่

นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TRT ผู้ผลิต จำหน่าย และซ่อมบำรุง หม้อแปลงไฟฟ้าทุกขนาด เปิดเผยว่า เป็นเกียรติประวัติของบริษัทอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ตกลงสั่งซื้อหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง ตามหนังสือสั่งซื้อเลขที่ No.S100108-0228Q-TS11-TX-04-1ให้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังขนาด 300 MVA 230/121-22KV Auto-Transformer จำนวน 3 เครื่อง มูลค่างานรวม 162,133,650  บาท เพื่อใช้สำหรับติดตั้งสถานีไฟฟ้าแรงสูงลำพูน 2 และถือได้ว่าหม้อแปลงดังกล่าวเป็นหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดกำลังที่ใหญ่ที่สุดที่ผลิตภายในประเทศอีกด้วย

บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TRT ดำเนินงานมายาวนานกว่า 24 ปี เป็นบริษัทของคนไทยเพียงรายเดียว ที่สามารถผลิตหม้อแปลงได้ครบทุกขนาด ตามความต้องการของตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ นอกจากนี้บริษัทยังมีนโยบายในการเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงหม้อแปลงไฟฟ้าทุกประเภท เพื่อเสริมความมั่นคงให้กับระบบอุตสาหกรรม และระบบการจ่ายไฟฟ้าของประเทศ พร้อมที่จะให้บริการฉุกเฉินได้ทุกกรณี

นายสัมพันธ์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันบริษัท ได้มีการเพิ่มกำลังการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังขนาดใหญ่ โดยคาดว่าในปีนี้จะสามารถทำรายได้อยู่ที่ประมาณ 655 ล้านบาท และในปี 55 คาดว่าจะสามารถทำยอดขายเพิ่มอีกเท่าตัว หรือประมาณ 1,340 ล้านบาท และจะเพิ่ม 10% ในทุก ๆ ปี

สำหรับปีนี้บริษัทฯมั่นใจว่ารายได้จะเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ทะลุ 2,100 ล้านบาท จากการรับรู้รายได้งานในมือ (Back log) ที่มีอยู่มูลค่ากว่า 1,850 ล้านบาท และบริษัทจะพยายามรักษาอัตราการเติบโตของกำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) นี้ให้ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 20-25 % ซึ่งรายได้หลักในปีนี้จะมากจากงานภาครัฐ เอกชน และส่งออก ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 33 % เท่า ๆ กัน และอีก 1 % จะเป็นงานด้านอื่น ๆ และการซ่อมบำรุงอีกด้วย

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงเข้าประมูลงานในส่วนของภาครัฐ เอกชน และส่งออกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีมูลค่ากว่า 4,900 ล้านบาท แบ่งเป็นงานการไฟฟ้านครหลวง 200 ล้านบาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 2,000 ล้านบาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิต 400 ล้านบาท และงานภาคเอกชนอีก 1,100 ล้านบาท และส่งออกอีก 1,200 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าบริษัทฯ จะสามารถได้รับการสั่งซื้อดังกล่าวข้างต้นประมาณ 20 - 30%

"แม้เศรษฐกิจโลกจะมีการผันแปรไปตามสภาพ แต่บริษัทเราก็ถือว่ายังอยู่ในสภาพที่โชคดีกว่าธุรกิจอื่นๆเพราะด้วยความที่ธุรกิจเรายังอยู่ในประเภทสาธารณูปโภคที่ยังมีความจำเป็นของประเทศและภูมิภาคซึ่งเราเป็นส่วนหนึ่งของการขยายตัวของภาคการไฟฟ้าในส่วนการส่งออกก็ยังคงมีการขยายไปเรื่อยๆ ตามอาเซียน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในเอเชียใต้ ซึ่งจะส่งผลให้ถิรไทยมีอัตราการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ ได้วางเป้าจากปี 2554 - 2558 จะมีรายได้มากกว่า 3 พันล้านบาท" นายสัมพันธ์กล่าวปิดท้าย