13 พฤษภาคม 2556

TRT โชว์กำไร Q1 ปี 56 จากการขายดีดกลับ โตพรวดกว่า 117.45 %

ถิรไทย หรือ TRT ผู้นำตลาดผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าของไทย ประกาศผลประกอบไตรมาส 1 ปี 56 รายได้ดีดกลับมีผลกำไรสุทธิเท่ากับ 36.81 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดบัญชีเดียวกันของปีก่อนซึ่งขาดทุนสุทธิ 30.39 ล้านบาท ด้าน “สัมพันธ์ วงษ์ปาน” ผู้บริหารฯ แย้มปีนี้ทิศทางสดใส จริง ๆ คาดกวาดรายได้โตมากกว่า 40 % ชัวร์ หลังตุน Backlog ในมือแล้วมากกว่า 1,915 ล้านบาท มากกว่าผลประกอบการในปี 55 ที่ผ่านมาตลอดทั้งปี

นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TRT ผู้ผลิต จำหน่าย และซ่อมบำรุง หม้อแปลงไฟฟ้าทุกขนาดของคนไทยเพียงแห่งเดียว เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 1 ปี 2556 ว่า บริษัทฯและบริษัทย่อย มีผลกำไรสุทธิเท่ากับ 36.81 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดบัญชีเดียวกันของปีก่อนซึ่งขาดทุนสุทธิ 30.39 ล้านบาท โดยบริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 400.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 216.43 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 117.45 และมีรายได้จากการบริการ 51.96 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 30.37 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 140.67

สำหรับอัตรากำไรขั้นต้นในไตรมาส 2 ปี 56 บริษัทฯ มีอัตรากำไรขั้นต้นสำหรับการขายร้อยละ24.40 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นเท่ากับร้อยละ 8.67 โดยมีค่าใช้จ่ายในการขาย 28.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.52 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 19.06 ค่าใช้จ่ายในการบริหาร 66.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15.09 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 29.42

นายสัมพันธ์ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้คาดว่าผลประกอบการในปี 2556 จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจและการลงทุนมีการขยายตัวอย่างชัดเจนทั้งภูมิภาค ASEAN คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 40 % เนื่องจากคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) ของทุกผลิตภัณฑ์ขยายตัวมากขึ้น ปัจจุบันบริษัทฯ มีงานในมือ (Backlog) มูลค่ามากกกว่า 1,915 ล้านบาท ส่งผลให้ขณะนี้บริษัทฯ มีงานในมือแล้วมากกว่าผลประกอบการในปี 55 ตลอดทั้งปี

“ล่าสุดบริษัทได้เซ็นสัญญากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในสัญญาการซื้อขายหม้อแปลงไฟฟ้า ขนาด 250 kVA 22 kVจำนวน 635 ชุด รวมมูลค่า 166,687,500 ล้าน โดยจะทำการส่งมอบภายในไตรมาส 2 ปี 2556 และบริษัท ถิรไทย อี แอนด์ เอส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทฯ ได้รับมอบสัญญาซื้อขายรถขุดเจาะกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคด้วยเช่นกัน เพื่อใช้ในการขุดเจาะลงเสาเข็มในการติดตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูงของ กฟภ. จำนวน 11 คัน มูลค่า 93,148,000 บาท โดยจะทำการส่งมอบภายในไตรมาส 4 ปี 2556 โดยรวมมูลค่าในสัญญาลงนามทั้ง 2 โครงการ กับ กฟภ. เป็นเงินทั้งสิ้น 259,835,500 บาท” นายสัมพันธ์ กล่าว และทิ้งท้ายว่า

สำหรับงานที่มีโครงการจะเปิดประมูลอย่างต่อเนื่อง ในช่วง Q2-Q3 มีมูลค่ากว่า 5,535 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค วงเงิน 335 ล้านบาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิต 200 ล้านบาท และการไฟฟ้านครหลวง 1,900 ล้านบาท และ ในส่วนของภาคเอกชน 2,300 ล้านบาท และส่งออก 500 ล้านบาท และ งานประมูลของบริษัทย่อย 300 ล้านบาท บริษัทฯคาดว่าจะสามารถชนะการประมูลงานได้มากกว่า 20-25% ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Margin) จะคงรักษาระดับให้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า 20-25 % ควบคู่กับการรักษาสัดส่วนตลาดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และมาตรการในด้านอื่นๆ เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ เพื่อรักษาอัตราเติบโตของบริษัทฯ